Translate

วันอาทิตย์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2557

กิจกรรมแฮมขั้นกลาง

กิจกรรมต่อไปนี้ ซึ่งผมไม่อยากเรียกว่าเป็นกิจกรรมของนักวิทยุสมัครเล่นขั้นกลางเลย เพราะในต่างประเทศ ผู้ได้รับใบอนุญาตย่านความถี่ VHF ก็ทำกิจกรรมแบบนี้ได้เช่นกัน เพียงแต่ทำงานคนละความถี่

1.       การติดต่อระยะทางที่ไกลกว่า
สำหรับผู้ที่ชอบติดต่อหาเพื่อนทางไกล การติดต่อสื่อสารโดยใช้ย่านความถี่ HF จะทำให้ท่านติดต่อกันกว้างไกลทั่วโลก ท่านอาจมีเพื่อนในที่ที่บนแผนที่โลกมีขนาดเท่ากับจุดปลายดินสอบก็ได้ ท่านจะรู้จักกับประเทศที่เพื่อนท่านไม่เคยได้ยินเลย
2.       ร่วมเข้าแข่งขันติดต่อทางไกล (Contest)
Contest ในความหมายของนักวิทยุสมัครเล่นหมายถึง การแข่งขันการติดต่อทางไกลให้ได้จำนวนสถานีวิทยุสมัครเล่นและจำนวนประเทศให้มากที่สุด ภายในระยะเวลาจำกัด อาจเป็นเวลา 12 หรือ 24 ชั่วโมงต่อเนื่องกัน สมาคม องค์กร หรือนิตยสารที่เป็นเจ้าของโครงการจะกำหนดกติกาต่าง ๆ ทั้งนี้เพื่อกระตุ้นพัฒนาขีดความสามารถของสถานี และตัวนักวิทยุสมัครเล่นเอง
รางวัล (Contest Award) ก็คือกระดาษใบเดียว แต่มีนักวิทยุสมัครเล่นจำนวนมากทั่วโลก อยากได้ไว้เชยชม รายการ Contest ใหญ่ ๆ เช่น IOTA Contest, CQ worldwide Contest เป็นต้น จะมีนักวิทยุสมัครเล่นทั่วโลก หรือสัญญาณเรียกขานประเทศที่หายากเข้าร่วมการแข่งขันมาก
ท่านอาจเข้าร่วมกันแข่งขันเองตลอดระยะเวลาการแข่ง หรือมีส่วนร่วมโดยไม่หวังเอาคะแนนก็ได้ ขณะเดียวกันก็ถือโอกาสทดสอบประสิทธิภาพของสถานีไปในตัว
3.       DX-pedition
การทำ DX-pedition หมายถึงการออกไปตั้งสถานีในที่ที่ยังไม่เคยมีหรือมีนักวิทยุสมัครเล่นอยู่น้อยมาก เพื่อให้เพื่อนนักวิทยุสมัครเล่นมีโอกาสแลกเปลี่ยนQSL Card เพื่อประโยชน์ใช้ประกอบการขอรางวัลต่าง ๆ การทำ DX-pedition ส่วนใหญ่ทำภายใต้โครงการของ DXCC กับ IOTA
DXCC (DX Century Club) เจ้าของสมาคมวิทยุสมัครเล่นอเมริกา (ARRL) เราต้องไปตั้งสถานีและออกอากาศในประเทศที่ยังไม่มีนักวิทยุสมัครเล่นอยู่เลย ค่อนข้างจะหายาก หรือไปทำซ้ำในประเทศที่มีนักวิทยุสมัครเล่นแล้วแต่ออกอากาศน้อยมาก หรือบางบริเวณที่ยังไม่เคยมีนักวิทยุสมัครเล่น 

โครงการ IOTA (Island On The Air) ของสมาคมวิทยุสมัครเล่นอังกฤษ (RSGB) เกาะไหนมีผู้ไปออกอากาศแล้ว ทางผู้รับผิดชอบก็จะออกหมายเลขประจำเกาะให้ เกาะที่ได้หมายเลขแล้ว ก็สามารถไปทำซ้ำใหม่ได้ 
การทำ DX-pedition แต่ละครั้ง นอกจากต้องมีความสามารถแล้ว ยังต้องมีความสามารถในการรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงอีกด้วย บางกลุ่มจึงจำเป็นต้องหาผู้สนับสนุน ซึ่งอาจสนับสนุนเรื่องอุปกรณ์หรือค่าใช้จ่ายอื่น ๆ แล้วแต่กรณี การทำ DX-pedition โดยการขนคนไปเยอะ ๆ แต่มีคนออกอากาศน้อย  คุณเกษม HS1CDX ท่านเรียกว่า DX convention หรือผมเรียกว่า DX เปลี่ยนที่กินเหล้า
หากท่านไม่ต้องการเป็นผู้ทำ DX-pedition เอง แต่ท่านสนใจที่จะติดต่อกับสถานี DX-pedition ท่านจะทราบข่าวความเคลื่อนไหวที่ Update ตลอดเวลา ได้ที่http://www.425dxn.org ที่ Website นี้ยังมีบริการเรื่อง DX SPOT ซึ่งจะมีผู้แจ้งเข้าไปว่า ขณะนี้ สถานีใคร กำลังออกอากาศที่ความถี่อะไร ติดต่อกับสถานีไหน ผู้แจ้งข้อมูลได้ยินระดับความแรงสัญญาณเท่าใด ซึ่งจะช่วยให้ท่านติดต่อกับสถานีที่ต้องการโดยไม่ต้องเสียเวลาหมุนหาความถี่ ขณะเดียวกัน ยังตรวจสอบการทำงานย้อนหลังได้อีกด้วย ท่านทดลองพิมพ์สัญญาณเรียกขานที่ท่านรู้จัก หากสัญญาณเรียกขานนี้มีการออกอากาศ ก็จะมีรายการออกมาให้ท่านเห็น
อนึ่ง ผู้รายงานเข้าไปนั้น ทำไปเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้เพื่อน ๆ ที่อาจจะติดต่อกับสถานีนั้น ๆ แต่ไม่ทราบว่า เจ้าของสัญญาณเรียกขานนั้น ได้รับอนุญาตตามกฎหมายหรือไม่ เพราะฉะนั้น ใครที่กำลังคิดว่าโลกนี้ใหญ่โตมโหฬาร มีความลับอยู่มากมาย ออกอากาศโดยที่ตัวเองยังสอบไม่ผ่านหรือไม่ได้รับอนุญาต ก็ต้องรับผิดชอบตนเองนะครับ 

4.       ตามล่า Beacon
บางท่านอาจชอบฟังมากกว่าคุย ท่านก็มีสิทธิทดสอบประสิทธิภาพของสถานีของท่านเช่นเดียวกัน สถานี Beacon อาสาสมัคร ซึ่งกระจายอยู่ทุกภูมิภาคของโลก ภายใต้โครงการของสมาพันธ์นักวิทยุสมัครเล่นนานาชาติ (IARU-International Amateur Radio Union) ทำการส่งข้อความออกอากาศทางเดียว หากท่านสามารถรับสัญญาณ Beacon ได้จากที่ใด ก็แสดงว่า สถานีของท่านมีโอกาสติดต่อกันแบบ 2 ways ได้เช่นเดียวกัน
หากว่าเราไม่มีข้อมูลสภาวะชั้นบรรยากาศที่มีผลต่อการติดต่อสื่อสารย่านความถี่ HF (Propagation) บางคนอาจใช้สถานี Beacon เป็นตัวคาดคะเนความเป็นไปได้ในการติดต่อสื่อสารให้สำเร็จ
5.       สะสม QSL Card
เมื่อก่อนนี้ ยุคที่การติดต่อสื่อสารยังไม่เสถียรภาพ เมื่อนักวิทยุสมัครเล่นติดต่อกันได้เป็นครั้งแรก จะขอแลกเปลี่ยน QSL card เพื่อยืนยันว่าได้ติดต่อกันจริง และเก็บไว้เป็นความภูมิใจ ต่อมาก็เพื่อเป็นหลักฐานในการขอรับรางวัล (Award) ซึ่งออกโดยสมาคม หรือนิตยสารที่เกี่ยวข้องกับกิจการวิทยุสมัครเล่น
นอกจากนี้ QSL Card ยังเป็นของสะสะมีค่าชิ้นหนึ่ง เนื่องจาก มีนักวิทยุสมัครเล่นกระจายอยู่ทั่วทุกแห่งในโลกนี้ แตกต่างทั้งเผ่าพันธุ์ สีผิว ภาษา สังคม วัฒนธรรม และลักษณะทางภูมิศาสตร์ ข่าวสารไม่แพร่หลาย รูปภาพที่ปรากฎบน QSL Card จึงมีเรื่องราวที่น่าสนใจไม่น้อย นอกเหนือจากข้อความบังคับที่ใช้ในการยืนยันการติดต่อสื่อสารระหว่างกัน
ปัจจุบัน การติดต่อสื่อสารที่มีคุณภาพ ยุคของสังคมข่าวสาร ทำให้ความจำเป็นในการแลกเปลี่ยน QSL Card มีน้อยมาก นอกจากพวกที่ต้องการนำไปขึ้นรางวัล อีกทั้งค่าใช้จ่ายในการจัดพิมพ์และส่งแต่ละใบก็ค่อนข้างสูงมาก ท่านลองคิดดูว่า ค่าพิมพ์ QSL Card ตั้งแต่ใบละ 1-5 บาท และค่าจัดส่งอีกใบละ 2บาททั่วโลก (อัตรานี้ส่งผ่าน RAST) หากท่านออกอากาศ 2000 QSO ต่อเดือน ท่านต้องจ่ายเท่าไหร่ครับ
6.       รางวัล (AWARD)
รางวัล หรือ AWARD คือกระดาษที่ประกาศรางวัลที่ออกโดยสมาคมหรือนิตยสารเจ้าของรางวัล ไม่มีราคาค่างวดอะไร แต่กระดาษแผ่นนี้มีความหมายต่อนักวิทยุสมัครเล่นมากทีเดียว บางรางวัลท่านเล่นมาค่อนชีวิต ยังไม่สามารถทำได้เลย รางวัลคงต้องแยกออกเป็น 2 แบบ คือ
1.       Contest Award คือรางวัลที่ออกให้กับผู้ที่ชนะการแข่งขัน Contest ในรายการต่างๆ
2.       Award ทั่วไป คือ รางวัลที่ออกให้กับผู้ที่สามารถทำได้ตามเงื่อนไขที่กำหนด สมาคมและนิตยสารส่วนใหญ่จะออกรางวัล Award แบบนี้ เช่น
DXCC Award เป็นรางวัลที่ออกโดยสมาคมวิทยุสมัครเล่นอเมริกา (ARRL) ออกให้กับผู้ที่สามารถติดต่อกับประเทศที่กำหนดไว้จำนวน 100, 200, 300 ประเทศ
IOTA Award เป็นรางวัลที่ออกโดยสมาคมวิทยุสมัครเล่นอังกฤษ (RSGB) ออกให้กับผู้ที่สามารถติดต่อกับเกาะที่กำหนดไว้จำนวน 100, 200, 300,  เกาะ
Siam Award เป็นรางวัลที่ออกโดยสมาคมวิทยุสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมถ์ (RAST) ออกให้กับผู้ที่สามารถติดต่อกับนักวิทยุสมัครเล่นไทยจำนวน 10 สถานี
ความยากง่ายของรางวัล ก็ขึ้นอยู่กับเจ้าของรางวัลจะวางกติกาไว้อาย่างไร แถมอีกนิด ทุกรางวัลไม่ว่าจะยากหรือง่าย ท่านต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการของรับรางวัลด้วยนะครับ
7.       Eyeball QSO
ท่านอาจคิดไม่ถึงว่า ในระดับนานาชาติก็มีงาน Eyeball QSO เหมือนกัน สมาชิกในกลุ่มประเทศอาเชี่ยน ได้จัดให้มีการประชุมและพบปะสังสรรค์กันSEANET Convention โดยผลัดกันเป็นเจ้าภาพ ติดต่อกันมา 30 ปีแล้ว ดังเช่นเมื่อปี 2000 สมาคมวิทยุสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์(RAST) ได้รับมอบหมายจากเพื่อนสมาคมฯ ให้เป็นเจ้าภาพระหว่างวันที่ 17-19 พฤศจิกายน ปี 2000 ที่เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 200ท่าน มาจากประเทศต่าง ๆ กว่า 20 ประเทศ 

CR: ข้อมูล HS1ASN http://www.songjiangmall.com/mid_act.htm

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น